หลังไตรมาส2 'อสังหาฯ' ฟื้นตัวดีขึ้น REICชี้มาตรการรัฐหนุน-ธอส.ปล่อยสินเชื่อใหม่
Loading

หลังไตรมาส2 'อสังหาฯ' ฟื้นตัวดีขึ้น REICชี้มาตรการรัฐหนุน-ธอส.ปล่อยสินเชื่อใหม่

วันที่ : 26 พฤษภาคม 2568
ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ธอส. มองสัญญาณบวกหลังไตรมาส 2 ปี 68 ฟื้นตัวดีขึ้น จากมาตรการภาครัฐกระตุ้นกำลังซื้อ ลดค่าโอนฯ ผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ชั่วคราว ขณะที่ตลาดไตรมาสแรกปี 68 ชะลอตัวเล็กน้อย เผย 10 จังหวัด มีการโอนที่ดีขึ้น ตัวเลขสินเชื่อปล่อยใหม่ทั่วประเทศ ธอส.โอบอุ้มผู้ซื้อบ้าน ครองส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 42.8%
   นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยมีการชะลอตัว ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองเหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท และการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ชั่วคราวของธนาคารแห่งประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลและ ธปท. ดำเนินมาตรการที่ตรงจุดในการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อตลาดที่อยู่อาศัยตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 เป็นต้นไป และคาดว่าจะส่งผลบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจในระยะยาวได้อีกด้วย

   ทั้งนี้ ข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ระบุว่า ไตรมาส 1 ปี 2568 การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศมีจำนวน 65,276 หน่วย ลดลงร้อยละ-10.5 มูลค่า 181,545 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -13.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยเป็นการชะลอตัวในทุกภูมิภาค

   เมื่อพิจารณาลงในรายละเอียดรายจังหวัด จะพบว่า บางจังหวัดยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยจังหวัดที่มีการโอนฯเพิ่มขึ้นทั้งหน่วยและมูลค่า ได้แก่ จังหวัดระยอง และสุราษฎร์ธานี จังหวัดที่มีจำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นแต่มูลค่าลดลง ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดที่มีจำนวนหน่วยลดลง แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนจังหวัดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยลดลง ทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี เชียงใหม่ และนครราชสีมา

   อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของการโอนฯทั่วประเทศ ทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศ มูลค่า 109,368 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -10.0 เมื่อเทียบกับ YoY ที่มีมูลค่า 121,529 ล้านบาท สำหรับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในไตรมาส 1 ปี 2568 มีส่วนแบ่งทางการตลาดสินเชื่อสูงถึงร้อยละ 42.8 สะท้อนให้เห็นว่า ธอส. ยังคงเป็นสถาบันการเงินที่มีบทบาทในการสนับสนุนภาคอสังหาฯ ของประเทศอย่างต่อเนื่อง

   ในด้านการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติทั่วประเทศ ไตรมาส 1 ชะลอตัวลง มีจำนวนทั้งสิ้น 3,919 ยูนิต ลดลงร้อยละ -0.5 มีมูลค่าการโอน 16,392 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -9.0 โดยคนต่างชาติมีสัดส่วนร้อยละ 29.3 ของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ และ 3 สัญชาติแรกที่มีจำนวนหน่วยการโอนสูงสุด ได้แก่ จีน จำนวน 1,481 หน่วย ลดลงร้อยละ -7.2 มูลค่า 6,117 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -19.2 อันดับ 2 พม่า จำนวน 439 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 มูลค่า 1,587 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -28.1 อันดับ 3 รัสเซีย จำนวน 288 หน่วย ลดลงร้อยละ -2.4 มูลค่า 987 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9

   ทั้งนี้ จากค่าเฉลี่ยการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2568 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และ ธปท.ส่งผลให้ REIC ปรับคาดการณ์ ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2568 โดยคาดว่าจะอยู่ในระดับทรงตัว หรือชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยมีจำนวนหน่วยโอนปีนี้ ลดลงเพียงร้อยละ -0.3 ขณะที่มูลค่าลดลง ร้อยละ -0.8 และจำนวน สินเชื่อทั่วประเทศ มีมูลค่าลดลงร้อยละ -0.3

   อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลจัดทำมาตรการลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 7 ล้านบาท มีผลตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2568-30 มิถุนายน 2569 รวมทั้งการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ชั่วคราว สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยในทุกระดับราคา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 - 30 มิถุนายน 2569 จะสามารถแก้ปัญหาการชะลอตัวของตลาดที่อยู่อาศัยได้ทันสถานการณ์ และส่งผลดีต่อตลาดที่อยู่อาศัยให้ฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป