ครม.เคาะลดค่าโอน-จดจำนองเหลือ 0.01% ชี้ตลาดอาจฟื้นไม่มากเหตุมาตรการมาช้า
Loading

ครม.เคาะลดค่าโอน-จดจำนองเหลือ 0.01% ชี้ตลาดอาจฟื้นไม่มากเหตุมาตรการมาช้า

วันที่ : 9 เมษายน 2568
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เผยครม.มีมติอนุมัติมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนองเหลือ 0.01% กลุ่มที่อยู่อาศัยประเภทบ้าน-คอนโดมิเนียมราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ควบคู่ LTV หวัง กระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ เครื่องจักรสำคัญช่วยดันตัวเลขจีดีพี "แสนสริ" ชี้มาตรการมาช้าตลาดอาจฟื้นได้ ไม่มากนัก
   นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (รมช.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ จาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาฯ เหลือ 0.01% จากปกติ 1% สำหรับการซื้อขาย อสังหาฯ ประเภทอาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือ บ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าว หรือห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุด โดยมีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาทต่อสัญญา โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน

   ทั้งนี้ กระทรวงการคลังต้องการกระตุ้นภาคอสังหาฯ โดยบรรเทาปัญหาอุปทานคงค้างที่อยู่ในระดับสูง จึงกำหนดระยะเวลามาตรการนี้ให้สอดคล้องกับมาตรการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV โดยให้มาตรการนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่กฎหมายได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 30 มิ.ย. 69 ซึ่งจากข้อมูลในอดีต เมื่อ 2 มาตรการนี้ทำงานควบคู่กัน ในช่วงเวลาเดียวกัน จะส่งผลบวกต่อภาค อสังหาฯ อย่างมาก

   "ภาคอสังหาฯ มีความสำคัญและมีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอื่นๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต ทั้งความเชื่อมโยงไปข้างหน้า ไปยังภาคการผลิตต่างๆ เช่น สาขาการค้า สถานที่เก็บสินค้าและบริการสินค้า บริการทางการเงิน การประกันชีวิต วิทยุ และโทรทัศน์ บริการบันเทิงและบริการส่วนบุคคล และมีผลต่อความเชื่อมโยงไปข้างหลัง เช่น สาขาการผลิตเหล็ก การผลิตซีเมนต์ การผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีต โรงเลื่อย การผลิตโลหะ การผลิตเครื่องจักร เป็นต้น

   นายสุรเชษฐ กองชีพ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา คุชแมน แอนด์ เวคฟิลด์ ประเทศไทย กล่าวว่าปัญหาสารพัดที่มีผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัยในปี 68 โดยเฉพาะเรื่องของการขอสินเชื่อธนาคารของกลุ่มลูกค้าระดับกลางลงไป ผู้ประกอบการภาคอสังหาฯ พยายามเรียกร้องมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลมาตลอดตั้งแต่ตอนต้นปี โดยเฉพาะเรื่องของ LTV และเรื่องการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์ และค่าจดจำนองที่หมดอายุสิ้นปี 67 เพราะมาตรการนี้เป็นการลดค่าใช้จ่ายของผู้ซื้อโดยตรง และมีส่วนช่วยให้เกิดการโอนกรรมสิทธิ์มากขึ้นช่วงปลายปี 67

   โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลยังคงไม่ได้ตอบสนองเรื่องของมาตรการช่วยเหลือใดๆ แต่ปรากฏว่าธนาคารแห่งประเทศไทยกลับประกาศยกเว้นมาตรการ LTV ทุกระดับราคาชั่วคราว สำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2569 ซึ่งภาคเอกชนก็ตอบสนองเรื่องนี้เป็นอย่างดี แต่ยังคงเรียกร้องมาตรการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนองจากรัฐบาลเช่นเดิม

   ขณะที่ เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา สร้างผลกระทบต่อตลาดคอนโด โดยเฉพาะที่เป็นอาคารสูงโดยตรง การโอนกรรมสิทธิ์ของตลาดคอนโดน่าจะได้รับผลกระทบในช่วงนี้ แต่ถ้าผู้ประกอบการต่างๆ สร้างความเชื่อมั่น ความปลอดภัยในเรื่องของโครงสร้าง และตัวอาคาร อีกทั้งต้องไม่มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นซ้ำ ความเชื่อมั่นของคนไทยต่ออาคารสูงจะค่อยๆ กลับมา ซึ่งผู้ประกอบการอสังหาฯ ก็ยังเรียกร้องมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อจากรัฐบาลต่อเนื่องเช่นกัน และวันที่ 8 เม.ย.ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีการอนุมัติมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาฯด้วยการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์ และค่าจดจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยไม่เกิน 7 ล้านบาทต่อยูนิต ซึ่งอาจจะไม่ได้กระตุ้นกำลังซื้อมากนัก

   โดยเฉพาะภาคคอนโดแต่ตลาดบ้านหรือที่อยู่อาศัยแนวราบ และ คอนโดที่เป็นอาคารโลว์ไรส์ จะได้รับอานิสงส์แน่นอน แม้ว่าจะกระตุ้นกำลังซื้อไม่ได้มาก หรือไม่ได้แตกต่างจากปีที่แล้วมากนัก แต่ก็คงช่วยให้ภาพรวมการโอนกรรมสิทธิ์ในปี 68 ลดลงจากปี 67 ไม่มากนัก ซึ่ง ณ ปัจจุบันอาจจะยังคาดการณ์ยาก เพราะปัจจัยลบบางอย่างเพิ่งเกิดหรือมีผล เช่น แผ่นดินไหว การประกาศเรื่องภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกากับไทย เป็นต้น เรื่องของภาษีมีผลต่อการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและอาจจะต่อเนื่องมาภาคที่อยู่อาศัยได้เช่นกัน

   นายภูมิภักดิ์ จุลมณีโชติ ประธานผู้บริหารสายงานกลยุทธ์ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองลง ถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับตลาดอสังหาฯ เพราะจะช่วยลดต้นทุนในการซื้อที่อยู่อาศัย และเมื่อรวมกับการผ่อนคลาย LTV จะทำให้ภาพรวม อสังหาฯ กลับมาเติบโตได้ แต่โดยส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะส่งผลให้ตลาดอสังหาฯ พลิกฟื้นได้มากนัก เพราะมาตรการที่ออกมาช้าเกินไป เป็นมาตรการแบบ Reactive ไม่ใช่ Proactive เพราะตลาดอสังหาฯ เริ่มเห็นสัญญาณเชิงลบมา 1 ปีแล้ว ห่วงโซอุปทานต่างๆ ได้รับผลกระทบ และบอบช้ำไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนในความพยายามทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น เพราะมาช้ายังดีกว่าไม่มา

   เนื่องจากปัญหาปัจจุบันของภาคอสังหาฯ อยู่ที่กำลังซื้อ ซึ่งติดกับดักหนี้ครัวเรือนอยู่ กล่าวคือ ถ้า GDP ไม่เติบโต กำลังซื้อก็จะไม่กลับมา จึงคาดการณ์ว่ามาตรการที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้ช่วยให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นมากนัก และถ้าถามว่าวันนี้ภาค อสังหาฯ ต้องการอะไร เราคงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เราต้องการให้กำลังซื้อของประชาชนมีมากขึ้น แล้วประชาชนจะมีกำลังซื้อได้อย่างไร คำตอบคือ ธนาคารต้องปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้น เศรษฐกิจจะไม่เติบโตถ้าสินเชื่อไม่เติบโต